วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เครื่องดนตรีประเภทตี

          เป็นเครื่องดนตรีที่ทำให้เกิด เสียงดนตรีด้วยการใช้ของสองสิ่งกระทบกัน ด้วยการตี นับว่าเป็นเครื่องดนตรีประเภท เก่าแก่ที่สุดที่ที่มนุษย์รู้จักใช้ ได้มีวิวัฒนาการจากอุปกรณ์ง่ายๆ ให้มี ความหลากหลายออกไปทั้งรูปแบบและวัสดุที่ใช้ สำหรับเครื่องดนตรีไทย ที่เป็นประเภทเครื่องตีมีดังนี้ 1.ทำด้วยไม้ 2.ทำด้วยหนัง 3.ทำด้วยเหล็ก

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องตีที่ทำด้วยไม้
          มีอยู่ด้วยกัน7 ชิ้นดังนี้1.ระนาดเอก 2.ระนาดทุ้ม 3.เกราะ 4.โกร่ง 5.กรับคู่ 6.กรับพวง 7. กรับเสภา

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ระนาดเอก 

          เป็นเครื่องดนตรีที่ทำด้วยไม้ ประเภทดำเนินทำนอง มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งบอกว่าเกิดขึ้นเมื่อสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาบรรเลงผสมในวงป่พี าทย์เครื่องห้า เครื่องคู่ และเครื่องใหญ่ตามลำดับ มีหน้าที่เป็นผู้นำวง ตีเก็บ ตีกรอเป็นพื้นฐาน ตีรัวในแบบต่างๆในบางโอกาสเดิมเรียกว่า ระนาดต่อเมื่อภายหลังมีระนาดทุ้มเกิดขึ้น จึงเรียกระนาดชนิดนี้ว่า ระนาดเอกมีส่วนประกอบดังนี้
รางระนาด ทำด้วยไม้เช่นไม้สัก ไม้มะริด ไม้มะเกลือ ไม้ประดู่ ฯ เป็นต้น รูปร่างคล้ายเรือดั่งสมัยโบราณ ตอนกลางป่องเป็นกระพุ้งเล็กน้อย เพื่อให้เสียงก้องกังวานตอนหัวและท้ายโค้งขึ้นเรียกว่า " ฝาประกบ " มี 2 แผ่น
โขนระนาด ทำด้วยไม้ 2 แผ่น ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ติดประกบไว้ที่หัวและท้ายของไม้ฝาประกบ โดยเฉพาะด้านในตอนบน จะติด " ขอระนาด " ซึ่งทำด้วย ด้วยโลหะ สำหรับคล้องเชือกขึงผืนระนาด ใช้ไม้แผ่นบางๆปิดใต้ล่างยาวตลอด เพื่อยึดฝาประกบ และโขน ให้ติดเข้าด้วยกันเรียกว่า " ไม้ปิดใต้ท้องระนาด " ซึ่งจะทำให้อุ้มเสียงกังวานมากขึ้น
เท้าระนาด ทำด้วยไม้หนา ลักษณะสี่เหลี่ยม คล้ายพาน กลางเป็นคอคอก บนโค้งเว้าไปตามท้องราง เรียกว่า " เท้าระนาด " ติดอยู่ที่กลางลำตัวของราง เพื่อให้หัวและท้ายของรางลอยตัว ฐานล่างนิยมแกะ สลักเป็น "ลายกระจังกลีบบัว" (ทั้ง ๔ ด้าน) ที่ไม้ฝาประกบ ตอนบนและตอนล่าง จะใช้ไม้ติดประกบโดยตลอดเรียกว่า " คิ้วขอบราง "นิยมทาสีขาว หรือดำ เพื่อตัดกับของแล็คเกอร์ที่ตัวราง บนคิ้วขอบราง ด้านบนทั้งสองข้าง จะใช้หวายเส้น มีผ้าพันโดยรอบมาติดเป็นแนวยาวตลอด เพื่อรองผืนขณะที่ลดผืนลงจากขอ และรักษาใต้ท้องผืน เมือเชือกร้อยผืนหย่อนลง นอกจากทาสีที่คิ้วขอบรางแล้ว ที่ไม้ฝาประกบยังนิยมเดินเส้นดำหรือขาวไปตามขอบคิ้วรางทั้งล่างและบนและรวมไปถึงที่โขนระนาดด้วย บางรางเดินเส้นเดียว บางรางเดินคู่สองเส้นการสร้างรางระนาด ได้มีการพัฒนาให้สวยงามขึ้น โดยขอบคิ้วประกอบงาหรือตัวรางทั้งหมดแกะลวดลายต่างๆประดับด้วยมุขหรือแกะลวดลายเดินล่องชาดและลงรักปิดทองเมื่อเกิดวงมโหรีขึ้นเครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์ต้องย่อสัดส่วนให้เล็กลงกว่าเดิม เรียกรางชนิดนี้ว่า " รางมโหรี " ซึ่งมีส่วนประกอบเช่นเดียวกับรางระนาด เดิมทุกอย่าง และมีทั้งรางทาน้ำมันรางงาและรางมุขเหมือนกัน
ผืนระนาด เดิมนิยมทำด้วยไม้ไผ่ตง หรือไผ่บง นำมาตัด เหลาด้วยความปราณีตเป็นลูกๆมี 21 ลูกขนาดลดหลั่นกันตามลำดับเรียกว่า "ลูกระนาด" ที่ลูกระนาดแต่ละลูก เจาะรูเล็กๆ4 รู ด้านละ 2 รู เพื่อร้อยเชือกเรียงชิดติดกันเรียกว่า " ผืนระนาด " สำหรับแขวนที่ขอทั้ง4 ติดกัน เมื่อจะใช้ตี ใต้ลูกระนาดทั้ง 21 ลูกจะติดตะกั่ว ( ซึ่งทำด้วยตะกั่วและขี้ผึ้งผสมกัน ) เพื่อถ่วงเสียงให้ได้เสียงสูงต่ำตามที่ต้องการ โดยติดข้างละก้อน น้อยหรือมากแล้วแต่เสียงที่ต้องการ ลูกที่ติดมากเสียงจะต่ำลง ที่ติดน้อยเสียงจะสูงขึ้น ต่อมา
ภายหลังนิยมนำไม้ชิงชันหรือไม้มะฮาด มาเหลาเป็นผืนระนาด ซึ่งจะมีเสียงเล็กแหลมขึ้นกว่า ผืนที่ทำจากไม้ไผ่ตง นอกจากนั้นในสมัยปัจจุบันได้เพิ่มลูกระนาดเอกให้มี 22 ลูกทั้งนี้เพื่อให้บรรเลงกับวงปี่พาทย์มอญได้สะดวก แต่ในวงปี่พาทย์เสภาเดิมไม้นิยม
ไม้ตีระนาด ก้านทำด้วยไม้ไผ่ เหลากลมเล็ก 2 อัน หัวไม้ตี ทำด้วยด้ายพันด้วยผ้าชุบรัก ลักษณะเป็นปื้นกลม เวลาตีจะมีเสียงดัง แข็งกร้าว เรียกว่า " ไม้แข็ง " อีกแบบทำด้วยผ้า ทาแป้งเปียก พันด้วยด้ายสีเส้นเล็กๆ โดยรอบอย่างสวยงาม เวลาตีมีเสียงนุ่มนวล ไพเราะ เรียกว่า " ไม้นวม " ซึ่งใช้ตีกับระนาดเอกในวงปี่พาทย์ไม้นวม หรือวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์

หลักการตีระนาดเอก
          ผู้ตีนั่งในท่าขัดสมาธิ หรือ พับเพียบ ตัวตรง อยู่กึ่งกลางของราง โดยให้มือขวาอยู่ทางเสียงสูง และมือซ้ายอยู่ทางซ้ายเสียงต่ำ จับไม้ด้วยมือทั้งสองข้างละอัน ในท่า " ปากกา " อันเป็นพื้นฐาน ตีลงบนผืนระนาดให้เป็นทำนองเพลง ซึ่งมีวิธีการตีที่เรียกว่า " ทางระนาด " คือการตีเก็บเป็นคู่แปด ดำเนินกลอนระนาดในรูปแบบต่างๆ และยังมีวิธีตีระนาดในรูปแบบต่างอีก เช่น
ตีเป็นคู่แปด ซึ่งเป็นพื้นฐานเบื้องต้น คือการตีลงพร้อมกันทั้งสองมือ มือซ้ายกับมือขวาห่างกัน 7 เสียง เรียกว่า คู่ โดย ที่มือขวาเป็นเสียงสูง มือซ้ายเป็นเสียงต่ำ เรียกว่า "คู่แปด "
ตีเก็บ คือการตีคู่แปดไปพร้อมๆกัน ด้วยพยางค์และเสียงถี่ๆติดกันตลอด
ตีเก็บเป็นทางระนาด คือการตีที่เป็นคู่แปด ที่มีพยางค์ถี่ๆ ติดต่อกันตลอด โดยใช้กลุ่มเสียงที่มีความไพเราะ รับส่งสัมผัสกันในท่วงทำนองเป็นกลุ่มๆ ตามปกติ จะแบ่งเป็น 2วรรค คือวรรคแรกจะยาวหนึ่งจังหวะฉิ่ง - ฉับ วรรคสองก็จะยาวหนึ่งจังหวะฉิ่ง-ฉับเช่นกัน ซึ่งเรียกว่า " กลอนระนาด " แต่ละกลอนจะมีเสียงสูงต่ำอย่างไร ขึ้นอยู่กับทำนองหลัก ตลอดจนความสามารถของผู้บรรเลงเป็นสำคัญ
ตีกรอ คือการตีสองมือสลับกันด้วยพยางค์ถี่ ๆเป็นคู่แปดหรือคู่สอง สาม ห้า การกรอนี้ถ้าสามารถทำพยางค์ให้ถี่มาก หรือละเอียดมาก จะถือเป็นสิ่งที่ดี
ตีกวาด คือการใช้ไม้ตีลากไปบนลูกระนาด จากล่างไปหาบน หรือจากบนไปหาล่างก็ได้
ตีสะบัด คือการตีแทรกเสียงพยางค์เข้ามา ในขณะที่บรรเลงเก็บอีกพยางค์หนึ่ง สะบัดจะมีทั้งสะบัดขึ้นและสะบัดลง โดยปรกติสะบัดจะมีเสียงเป็น 3 พยางค์ ซึ่งบางครั้งเป็นการสะบัดเพื่อขึ้น หรือลงของทำนองเพลง
ตีขยี้ คือการตีที่เพิ่มเติมเสียง สอดแทรกแซงให้มีพยางค์มากกว่าเก็บอีกเท่าหนึ่ง
ตีรัว คือการตีที่สองมือสลับกันหลายๆพยางค์ สั้นๆ และถี่ๆ ซึ่งจะมีทั้งรัวลูกเดียวและรัวหลายๆลูก บางครั้งรัวเป็นทำนอง
         วิธีการตีของระนาดดังกล่าว ถือเป็นวิธีการตี ที่เป็นพื้นฐาน ยังมีการตีที่พิเศษอีกมากมายเช่นการตีให้มีเสียงต่างๆ โดยเฉพาะในการตีเดียวของระนาดเอก จะพบวิธีตีในรูปแบบต่างๆอีกมากมาย ทั้งนี้ต้องอยู่กับความสามารถของผู้บรรเลงด้วย

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ระนาดทุ้ม 

          เป็นเครื่องดนตรีประเภททำทำนองที่ทำด้วยไม้ ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยเพิ่มมาให้เป็นคู่กับระนาดเอก ในวงปี่พาทย์เครื่องคู่ เวลาตีมีเสียงทุ้มกว่าระนาดเอก จึงเรียกว่า "ระนาดทุ้ม " มีหน้าที่ตีหยอกยั่วเย้าไปกับทำนองเพลง เปรียบเสมือนตัวตลกของวง ตีมือละลูกมือละหลายๆลูก ตีลงก่อนจังหวะ หรือหลังจังหวะ ตีด้วยการห้ามเสียง อันเป็นแบบฉบับของการตีทุ้ม (เสียงดูด) ระนาดทุ้มมีส่วนประกอบดังนี้
รางระนาดทุ้ม ทำด้วยไม้ เช่น ไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้มะเกลือ ไม้มะริดเป็นต้นส่วนประกอบต่างๆคล้ายคลึงกับระนาดเอก เพียงแต่มีบางส่วนที่มีลักษณะแตกต่างออกไป คือ ตัวรางนั้นมีลักษณะคล้ายรางข้าวหมู โขนทุ้ม ปลายผายออก โค้งเล็กน้อยด้านในเจาะรู เพื่อติด " ตะขอ " ซึ่งทำด้วยโลหะ ด้านหัวเป็นตะของอ ด้านปลายตีเกลียวแหลม มีแผ่นเหล็กกลมกั้นยึด
โขนระนาดทุ้ม ทั้งสองข้างติดยึดไว้กับ " ไม้ฝาประกบ " 2 อัน และมีไม้แผ่นอีกอันหนึ่งปิดใต้ท้องรางโดยตลอด เพื่ออุ้มเสียงให้ดังก้องกังวาน ที่ไม้ปิดท้องรางด้านล่าง มีไม้ทำเป็นขารองรับตัวราง 4 เท้า ติดอยู่ที่มุมทั้งสี่ด้าน ที่ไม้ฝาประกบด้านบนและล่าง จะมีไม้ทำเป็นคิ้วขอบรางประกบติดโดยตลอด และบนคิ้วขอบรางตอนบน ใช้หวายต้นเล็กๆพันด้วยผ้า ตอกติดเพื่อรองรับผืนเรียกว่า "หมอน" นอกจากจะทาน้ำมันลงแล็คเกอร์แล้ว ยังตีเส้นสีดำ หรือสีขาว เดินตามขอบคิ้ว ตลอดถึงโขนทุ้มทั้งสองด้วย
เมื่อรางระนาดเอกได้ประดิษฐ์ พัฒนาขึ้นให้สวยงาม โดยประกอบงา แกะสลักประดับมุขหรือแกะเป็นลวดลายปิดทองลงรักรางระนาดทุ้มก็สร้างขึ้นให้เป็นเช่นเดียวกัน เพราะเป็นของคู่กัน และตั้งอยู่หน้าวง
ผืนระนาดทุ้ม ทำด้วยไม้ไผ่ตง หรือไผ่บง ตัดเหลาเป็นลูกๆ มีขาดใหญ่กว่าลูกระนาดเอก ซึ่งมี ทั้งหมด 17 ลูก แต่ละลูกเจาะรูด้านละ๒รู เพื่อร้อยเชือกให้เป็นผืน สำหรับแขวนบนราง เพื่อให้ได้เสียงสูง-ต่ำที่ จะติด " ตะกั่ว" (ตะกั่วผสมขี้ผึ้ง) ที่ด้านล่างของลูกทุ้มแต่ละลูก และเพื่อให้เสียงต่ำลง จะคว้านลูกทุ้มด้านล่างให้เว้า เข้าไป และถ้ายังต่ำไม่พอ ก็จะติดตะกั่วเพิ่มขึ้นอีกต่อมาใช้ไม้ชิงชิน หรือไม้มะฮาด มาทำเป็นผืนทุ้ม ปรากฏว่าเสียงก้องกังวานไพเราะแต่สั้น ไม่ลึกเท่าผืนที่ทำด้วยไม้ไผ่ตง
ไม้ตีทุ้ม ก้านไม้ทำด้วยไม้ไผ่ 2 อัน เหลาให้กลม เล็ก ตอนหัวพันด้วยผ้า ชุบแป้ง
และด้ายเส้นเล็กโดยรอบ ให้เป็นปื้นใหญ่ เพื่อตีให้มีเสียงทุ้มนุ่มนวล โดยปกตินิยม
พันด้วยด้ายที่มีสีสันต่างๆด้วยศิลปการพันที่สวยงาม

หลักการตีระนาดทุ้ม
          นั่งในท่าขัดสมาธิ หรือพับเพียบ ตัวตรง อยู่กึ่งกลางระหว่างราง ให้มือขวาอยู่ทางเสียงสูง และมือซ้ายอยู่ทางเสียงต่ำ มือทั้งสองจับไม้ทุ้มในท่าแบบปากกา อันเป็นท่าพื้นฐาน ตีลงบริเวณกลางผืน โดยตีให้เป็นทางทุ้ม ซึ่งจะหยอกยั่วเย้าไปกับทำนองเพลง

วิธีการตีระนาดทุ้ม
จากหลักการตีดังกล่าวก่อให้เกิดลักษณะการตีทุ้มอันที่เป็นพื้นฐานเบื้องต้นดังนี้
1. ตีไล่เสียงทีละมือ
2. ตีเป็นคูแปด หรือคู่ต่างๆ
3. ตีกรอ หรือกรอคู่ต่าง
4. ตีผสมมือขึ้นลง 3 4 5 6 พยางค์
5. ตีเรียงซ้าย-เรียงขวา ( 4 พยางค์ทีละมือ)
6. ตีดูด
7. ตีถ่าง
8. ตีลักจังหวะ
9. ตีกวาด
10.ตีโขยก

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เกราะ 

          เป็นเครื่องตีที่ทำด้วยไม้ไผ่ เดิมเป็นเครื่องตีสำหรับขานยาม ไม่ปรากฏว่านำมาใช้ร่วมในวงการดนตรี แต่ในการเล่นโขนละครตอนพักทัพที่อยู่เวรยาม และตอนที่หัวหน้าหมู่บ้านใช้ตีเป็นอาณัติสัญญาบอกเหตุอันตราย หรือตีเพื่อนัดหมายชุมนุมลูกบ้าน เกราะ ทำด้วยไม้ไผ่ตัดเป็นปล้อง ไว้ข้อหัวท้าย ด้านล่างผ่าเจาะเป็นแนวยาวไปตามลำ ใช้ไม้ซีกหรือไม้แก่นเหลาขนาดพอเหมาะมือทำเป็นไม้ตี โดยผูกเชือกให้ติดไว้กับกระบอก บางทีก็เจาะทะลุที่ข้อทั้งสอง ข้างสำหรับร้อยเชือกผูกแขวนหรือห้อย

วิธีตีเกราะ
          มือซ้ายจับเชือกให้เกราะตั้งขึ้น มือขวาจับไม้ตี ตีบริเวณตรงกลางปล้อง หรือถัดมาทาง
ล่างของปล้องโกร่ง เป็นเครื่องตีกำกับจังหวะที่ทำด้วยไม้ไผ่ เช่นเดียวกับเกราะ แต่ยาวกว่า ตั้งอยู่บนขา 2ขา เคยเห็นใช้ตีตามชนบท ในฤดูการงานสงกราณต์ เด็กๆและหนุ่มสาวใช้ตีประกอบการร้องที่เรียกว่า " ร่ำ " คือการตีควบไปกับการร้องในการเชิญทรงเจ้าเข้าผี และรำแม่ศรี เป็นต้น ที่ใช้ในวงการดนตรีก็คือ การตีร่วมกับการแสดงหนังใหญ่ และโขนละคร โดยเฉพาะในการบรรเลงเพลงกราวตรวจพล แต่ในการแสดงโขน ของกรมศิลปากร จะใช้โกร่งร่วมตีในวงปี่พาทย์ในการแสดงโขนกลางแจ้งถ้าเป็นการแสดงภายในจะไม่ใช้เพราะเสียงดังเกินไปโกร่ง ทำด้วยไม้ไผ่ยาว 4 หรือ 4 ปล้อง ตัดปาดหัวท้ายเหลือปล้องไว้ เจาะเป็นช่องระบายไปตามปล้อง โดยเจาะปล้องเว้นปล้อง หัวและท้ายจะมีไม้ทำเป็นขารองรับ เวลาตีจะวางราบขนานไปกับพื้น ใช้ไม้ตี ซึ่งด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก คล้ายกรับไม้ 2 อัน มาตีลง ระหว่างกึ่งกลางปล้อง ผู้ตีจะนั่งตีพร้อมกัน 2 หรือ 3 คนตีไปตามจังหวะใหญ่ ของทำนองเพลง โดยเฉพาะในเพลงกราวตรวจพล ซึ่งจะทำให้ผู้แสดงโขนฟังจังหวะได้ชัดเจน สามารถเต้นตามจังหวะได้พร้อมเพรียงกัน

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------




โกร่ง 

          เป็นเครื่องตีอีกอย่างหนึ่ง ทำด้วยลำไม้ไผ่เหมือนกันจะเรียกว่าเกราะยาวก็ได้ เพราะใช้ลำไม้ไผ่ยาวประมาณวาหนึ่งหรือสองวา หรือตามแต่ต้องการปาดเป็นรูยาวไปตามปล้องไม้ไผ่หรือเว้นตรงข้อก็ได้ ปาดทั้งสองข้างหรือข้างเดียวแต่สลับปล้องกันก็ได้ เพื่อให้ตีเสียงดังก้องขึ้น เวลาตีใช้วางลำราบไปตามพื้นมีไม้รองหัวท้าย ถ้าเป็นโกร่งขนาดยาว ก็ต้องมีไม้รองตอนกลางลำด้วย ไม้ตีจะใช้ซีกไม้ไผ่ขนาดยาวราวสัก ๓๐ - ๔๐ ซม. เหลาให้เกลี้ยงเกลาเพื่อมิให้บาดมือจับ หรือจะใช้ซอไม้รวกหรือใช้ไม้แก่นเหลาตามขนากนั้นก็ได้ใช้เป็นไม้ตี คนหนึ่งใช้ไม้ตีอันหนึ่งด้วยมือของตนข้างหนึ่ง หรือใช้ตีด้วยมือทั้งสองข้าง มือละอันก็ได้ และตีพร้อมกันหลายคนก็ได้ แต่ข้อสำคัญต้องตีให้ลงจังหวะพร้อมกัน และที่เรียกเครื่องตีชนิดนี้ว่า "โกร่ง" แต่เดิมก็คงจะเรียกตามเสียงที่ตนได้ยินเป็นสำเนียงอย่างนี้ โกร่ง ดังกล่าวนี้ แต่ก่อนจะใช้ในการใดบ้างหาทราบไม่ แต่ในการละเล่นประจำฤดูเทศกาลสงกรานต์เคยเห็นเด็ก ๆ และหนุ่มสาวในบางท้องถิ่นใช้ตีประกอบการร้อง ซึ่งเขาเรียกกันว่า "ร่ำ" คือ ตีและร้องเชิญทรงเจ้าเข้าผีและรำแม่ศรี เป็นต้น ที่ใช้บรรเลงร่วมวงปี่พาทย์ก็ยังมี เช่น ในการแสดงหนังใหญ่และโขนละคอน โดยเฉพาะในการบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ตอนตรวจพลยกทัพ แต่การแสดงโขนของกรมศิลปากร ที่ใช้โกร่งตีร่วมวงปี่พาทย์ด้วยก็เฉพาะในการแสดงโขนกลางแจ้ง ถ้าเป็นการแสดงภายในโรงหรือภายในอาคาร ก็ไม่ได้ใช้เพราะจะทำให้เสียงดังกึกก้องเกินไป





----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


กรับคู่ 

          ทำด้วยไม้ไผ่ซีก 2 อันเหลาให้เรียบและเกลี้ยง หนาตามขนาดของเนื้อไม้ หัวและท้ายกว่าใหญ่ลดหลั่นกันเล็กน้อย ตีด้วยมือทั้งสองข้าง โดยจับข้างละอัน ให้ด้านที่เป็นผิวไม้กระทบกัน ตีลงบริเวณใกล้กับตอนหัว มีเสียงดัง กรับ กรับ โดยมากจะใช้ตีกำกับจังหวะในวง ปี่พาทย์ชาตรีประกอบการแสดงละครชาตรี โดยเฉพาะ ในเพลงร่ายต่างๆ ในวงกลางยาวก็นิยมใช้กรับคู่ไปตีกำกับจังหวะหนักที่เรียกว่า กรับคู่คงเป็นเพราะมีเป็นคู่ 2 อัน บางทีก็เรียกว่า "กรับไม้

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กรับพวง 

          เป็นเครื่องตีกำกับจังหวะที่ทำด้วยไม้ ผสมโลหะ ร้อยเชือกติดกันเป็นพวง ทั้งไม้และโลหะทำเป็นแผ่นบางๆสลับกัน โดยชิ้นนอกสุด 2 ชิ้น จะเหลาหนา หัว และท้ายงอนโค้งงอน ด้านจับเล็ก ตอนปลายใหญ่ ร้อย เชือกทางด้านปลาย ให้หลวมพอประมาณ เวลาตีมือหนึ่งจะจับกัมตอนปลาย ให้หัวตีลงบนมืออีกข้างหนึ่ง ซึ่งจะมีเสียงไม้กับโลหะกระทบกัน เดิมใช้ตีเป็นอาณัติสัญญาณ เช่นในการเสด็จออกท้องพระโรงของพระเจ้าแผ่นดิน ที่เรียกว่า " รัวกรับ " โดยเฉพาะในเรือสุพรรณหงส์ พระราชพิธีทอดผ้าพระกฐินทางชลมารค เจ้าพนักงานจะรัวกรับ เพื่อบอกฝีผายทำความเคารพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และออกเรือ
ในวงการดนตรี จะใช้กรับพวงตีร่วมในวงปี่พาทย์ ประกอบการแสดงละคอนนอกละครใน ตลอดจนโขน ละคอนที่แสดงภายใน โดยเฉพาะเพลงร่าย

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กรับเสภา 

          เป็นเครื่องตีกำกับจังหวะอีกชนิดหนึ่ง ที่ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง โดยเฉพาะไม้ชิงชัน เหลาให้เป็นสี่เหลี่ยม ด้านบนลบเหลี่ยมเล็กน้อย เพื่อไม่ให้บาดมือและสามารถกลิ้งตัวของมันเอง กลอกกระทบกันได้สะดวก ด้านล่างนูนโค้งเล็กน้อย เดิมใช้ขยับตีในการขับเสภา ดังที่เรียกว่า " ขยับกรับขับเสภา " ซึ่งผู้ขับ เสภาจะเป็นผู้ขยับเอง โดยใช้กรับ 2 คู่ ขยับคู่ละมือ ขับเสภาไปพลางขยับกรับสอดแทรกไปกับทำนองขับ ซึ่งมีวิธีการขยับกรับได้หลายวิธี อันถือเป็นศิลปชั้นสูงอย่างหนึ่งในการขยับกรับขับเสภาซึ่งนิยมเล่นกันมากในสมัยโบราณในปัจจุบันคนขยับขับเสภาลดน้อยลง การเล่นปี่พาทย์เสภาก็เลือนหายไป คงเหลือกรับไว้สำหรับตีกำกับจังหวะหนักในวงปี่พาทย์ ซึ่งลดเหลือคู่เดียว เวลาตีมือหนึ่งจับกรับคว่ำมือลง อีกมือหนึ่งจับกรับหงายมือขึ้นตีกระทบกัน ที่ถูกต้องควรตีให้มีเสียงกล่ำกันเล็กน้อย เสียงจะดังไพเราะ


แหล่งที่มา http://www.siammelody.com/thaimusic/ded.htm

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องตีที่ขึงด้วยหนัง

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลอง เป็นเครื่องดนตรีประเภทตี สำหรับใช้บอกสัญญาณ บอกจังหวะ และใช้ประกอบเครื่องดนตรีอื่น ๆ ตัวกลองเรียกว่า "หุ่น" ทำด้วยไม้ ข้างในเป็นโพรง หน้าขึงด้วยหนังมีทั้งหน้าเดียวและสองหน้า การขึ้นหนังมีทั้งตรึงด้วยหมุด และโยงเร่งด้วยเส้นหนัง หวายหรือลวด การตีกลอง อาจใช้ตีด้วยฝ่ามือ และตีด้วยไม้สำหรับตี

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

๑. กลองแขก

กลองแขก มีรูปร่างยาวเป็นกระบอก หน้าด้านหนึ่งใหญ่เรียกว่า "หน้ารุ่ย" หน้าด้านหนึ่งเล็กเรียกว่า "หน้าต่าน" หนังหน้ากลอง ทำด้วยหนังลูกวัว หนังแพะ ใช้เส้นหวายฝ่าชีกเป็นสายโยงเร่งให้ตึงด้วยรัดอก สำรับหนึ่งมีสองลูก ลูกเสียงสูงเรียกว่า "ตัวผู้" ลูกเสียงต่ำเรียกว่า "ตัวเมีย"
การตี การตีใช้ฝ่ามือทั้งสอง ตีทั้งสองหน้าให้เสียงสอดสลับกันทั้งสองลูก กลองชนิดนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "กลองชะวา"

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

๒. กลองชนะ

กลองชนะ รูปร่างเหมือนกลองแขก แต่สั้นกว่า หน้าหนึ่งใหญ่ อีกหน้าหนึ่งเล็ก ใช้ตีด้วยไม้งอ ๆ หรือหวาย ทางด้านหน้าใหญ่ เดิมกลองชนะน่าจะใช้ในกองทัพ หรือในการสงคราม ต่อมาใช้เป็นเครื่องประโคมในกระบวนพยุหยาตรา และใช้ประโคม พระบรมศพ พระศพ และศพ ตามเกียรติยศของงาน จำนวนที่ใช้บรรเลง มีตั้งแต่ ๑ คู่ ขึ้นไป

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

๓. กลองชาตรี


กลองชาตรี มีรูปร่างลักษณะและการตีเช่นเดียวกับกลองทัด แต่ขนาดเล็กกว่ากลองทัดประมาณครึ่งหนึ่ง ขึ้นหนังสองหน้า ใช้บรรเลงร่วมในวงปีพาทย์ในการแสดงละครชาตรีที่เรียกว่า "ปีพาทย์ชาตรี" ใช้เล่นคู่กับโทนชาตรี

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

๔. กลองต๊อก

กลองต๊อก เป็นกลองจีนชนิดหนึ่ง มีขนาดเล็ก หุ่นกลองหนา ขึ้นหนังสองหน้า หน้าทั้งสองมีขนาดเท่ากัน ตีหน้าเดียวโดยใช้ไม้ขนาดเล็ก

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

๕. กลองตะโพน

กลองตะโพน ใช้ตะโพนสองลูก เสียงสูงต่ำต่างกัน ถอดเท้าออก แล้วนำมาตั้งเอาหน้าเท่งขึ้นตีแบบกลองทัด ใช้ไม้นวมที่ใช้ตีระนาดเป็นไม้ตี

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

๖. กลองทัด

กลองทัด มีรูปทรงกระบอก กลางป่องออกเล็กน้อย ขึ้นหนังสองหน้า ตรึงด้วยหมุดที่เรียกว่า "แส้" ซึ่งทำด้วยไม้ งาช้าง กระดูกสัตว์ หรือโลหะ หน้ากลองด้านหนึ่งติดข้าวตะโพน แล้วตีอีกด้านหนึ่ง ใช้ไม้ตีสองอัน สำรับหนึ่งมีสองลูก ลูกเสียงสูงเรียกว่า "ตัวผู้" ลูกเสียงต่ำเรียกว่า "ตัวเมีย" ตัวผู้อยู่ทางขวา และตัวเมียอยู่ทางซ้ายของผู้ตี กลองทัดน่าจะเป็นกลองของไทยมาแต่โบราณ ใช้บรรเลงรวมอยู่ในวงปีพาทย์มาจนถึงปัจจุบัน

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

๗. กลองมลายู


กลองมลายู มีรูปร่างลักษณะเหมือนกลองแขก แต่สั้นและอ้วนกว่า หน้าหนึ่งใหญ่ อีกหน้าหนึ่งเล็กขึ้นหนังสองหน้า เร่งให้ตึงด้วยหนังรูดให้แน่น สายโยงเร่งเสียงทำด้วยหนัง หน้าใหญ่อยู่ทางขวาไปตีด้วยไม้งอ หน้าเล็กตีด้วยฝ่ามือ สำรับหนึ่งมีสีลูก ต่อมาลดเหลือสองลูก ใช้บรรเลงคู่ อย่างกลองแขกลูกเสียงสูงเรียกว่า "ตัวผู้" ลูกเสียงต่ำเรียกว่า "ตัวเมีย" ใช้บรรเลงในวงบัวลอยในงานศพ และใช้บรรเลงในวงปีพาทย์นางหงส์

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

๘. กลองโมงครุ่ม

กลองโมงครุ่ม มีรูปร่างลักษณะเหมือนกลองทัด แต่ใหญ่กว่า ขึ้นหนังสองหน้า ตรึงด้วยหมุด ตีหน้าเดียว โดยใช้ไม้ตี ใช้ตีในการเล่นสมัยโบราณที่เรียกว่า "โมงครุ่ม" หรือ "โหม่งครุ่ม" ซึ่งมักตีฆ้องโหม่งประกอบด้วย

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

๙. กลองยาว

กลองยาว หุ่นกลองทำด้วยไม้ ตอนหน้าใหญ่ ตอนท้ายเรียวแล้วบานปลายเป็นรูปดอกลำโพงมีหลายขนาด ขึ้นหนังหน้าเดียว ตัวกลางนิยมตบแต่งให้สวยงามด้วยผ้าสี หรือผ้าดอกเย็บจีบย่น ปล่อยเชิงเป็นระบายห้อยมาปกด้วยกลอง มีสายสะพายสำหรับคล้องสะพายบ่า ใช้ตีด้วยฝ่ามือ แต่การเล่นโลดโผน อาจใช้ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายตีก็มี กลองยาวได้แบบอย่างมาจากพม่า นิยมเล่นในงานพิธีขบวนแห่ กลองชนิดนี้เรียกชื่อตามเสียงที่ตีได้อีกชื่อหนึ่งว่า "กลองเถิดเทิง"

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

๑o. กลองสองหน้า

กลองสองหน้า ลักษณะคล้ายเปิงมาง แต่ใหญ่กว่า ตีด้วยมือขวา ใช้ใบเดียวตีกำกับจังหวะในวงปีพาทย์ที่บรรเลงในการขับเสภา

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

๑๑. ตะโพน

ตะโพน เป็นเครื่องดนตรีประเภทกลอง ตัวตะโพนเรียกว่า "หุ่น" ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ขุดแต่งให้เป็นโพรงภายใน ขึ้นหนังสองหน้า ตรงกลางป่องและสอบไปทางหน้าทั้งสอง หน้าหนึ่งใหญ่เรียกว่า "หน้าเทิ่ง" หรือ "หน้าเท่ง" ปกติอยู่ด้านขวามือ อีกหน้าหนึ่งเล็ก เรียกว่า "หน้ามัด" ใช้สายหนังเรียกว่า "หนังเรียด" โยงเร่งเสียงระหว่างหน้าทั้งสอง ตรงรอบ ขอบหนังขึ้นหน้าทั้งสองข้าง ถักด้วยหนังตีเกลียวเป็นเส้นเล็ก ๆ เรียกว่า "ไส้ละมาน" สำหรับใช้ร้อยหนังเรียด โยงไปโดยรอบจนหุ้มไม้หุ่นไว้หมด ตอนกลางหุ่นใช้หนังเรียดพันโดยรอบเรียกว่า "รัดอก" หัวตะโพนวางนอนอยู่บนเท้าที่ทำด้วยไม้ ใช้ฝ่ามือซ้าย-ขวา ตี ทั้สองหน้า
ตะโพนใช้บรรเลงผสมอยู่ในวงปีพาทย์ ทำหน้าที่กำกับจังหวะหน้าทับต่าง ๆ ผู้ที่นับถือพระประคนธรรพ ว่าเป็นครูใหญ่ทางดนตรี ได้ถือเอาตะโพนเป็นเครื่องแทนพระประคนธรรพในพิธีไหว้ครู และถือว่าตะโพนเป็นเครื่องควบคุมจังหวะที่สำคัญที่สุด

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

๑๒. ตะโพนมอญ

ตะโพนมอญ คล้ายตะโพนไทย แต่ใหญ่กว่า และตรงกลางหุ่นป่องน้อยกว่า มีเสียงดังกังวาลลึกกว่าตะโพนไทย หน้าใหญ่เรียกว่า "เมิกโนด" หน้าเล็กเรียกว่า "เมิกโด้ด" เป็นภาษามอญ ตะโพนมอญใช้
บรรเลงผสมในวงปีพาทย์มอญ มีหน้าที่บรรเลงหน้าทับ กำกับจังหวะต่าง ๆ

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------



๑๓โทน


โทน เป็นเครื่องดนตรีประเภทกลอง เดิมเรียกว่า ทับ หุ่นทำด้วยดินเผารูปร่างคล้ายกรวย ปลายบานออกเป็นดอกลำโพง ขึงด้วยหนังหน้าเดียว มีสายโยงเร่งเสียงจากขอบหนังคอ ตีด้วยมือข้างหนึ่ง มืออีกข้างหนึ่งคอยปิด-เปิดปากลำโพง เพื่อช่วยให้เป็นเสียงต่าง ๆกัน ใช้ตีเป็นจังหวะ กำกับทำนองเพลงมาแต่โบราณ นิยมบรรเลงในวงเครื่องสาย ไม่นิยมบรรเลงในวงปีพาทย์ 


-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


๑๔รำมะนา


รำมะนา เป็นกลองขึงหนังหน้าเดียว หน้ากลอง ยานผายออก หุ่นกลองนั้น รูปร่างคล้ายชามกะละมัง หรือชามอ่าง เข้าใจว่าได้แบบอย่างจากเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งของมลายู ที่เรียกว่า เรบานา รำมะนามีสองชนิด คือรำมะนาสำหรับวงมโหรี และรำมะนาสำหรับวงลำตัด
รำมะนาสำหรับวงมโหรี มีขนาดเล็ก หุ่นกลองสูง หนังที่ขึ้น ตรึงด้วยหมุดโดยรอบ มีเชือกที่เรียกว่า "สนับ" สำหรับใช้หนุนข้างใน โดยรอบหน้ากลาง เมื่อหน้ากลองหย่อน เพื่อช่วยให้เสียงสูง ใช้มือตี บรรเลงในวงมโหรีและวงเครื่องสายคู่กับโทน 


รำมะนาสำหรับวงลำตัด มีขนาดใหญ่ ใช้เส้นหวายผ่าซีกโยงระหว่างขอบหน้ากับวงเหล็ก ซึ่งรัดขอบล่างของตัวกลอง และใช้ลิ่มตอกเร่งเสียง รำมะนาชนิดนี้เดิมใช้ในการร้องเพลงบันตน เข้าใจว่าได้แบบอย่างจากชวาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ต่อมาได้ใช้ในการเล่นลำตัดและลิเก 


-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


๑๕บัณเฑาะว์


บัณเฑาะว์ เป็นกลองสองหน้าขนาดเล็ก ไทยคงได้เครื่องดนตรีชนิดนี้มาจากอินเดีย ตัวกลองทำด้วยไม้ขนาดเล็กพอมือถือ หัวและท้ายใหญ่ ตรงกลางคอด มีสายโยงเร่งเสียงใช้เชือกร้อยโยงห่าง ๆ มีสายรัดอกตรงคอดที่ตรงสายรัดอก มีหลักยาวอันหนึ่งรูปเหมือนหัวเม็ดทรงมัณฑ์ ทำด้วยไม้หรืองาที่ปลายหลักมีเชือกผูก ปลายเชือกอีกด้านหนึ่งผูกลูกตุ้ม ในการบรรเลงใช้มือไกวบัณเฑาะว์ คือพลิกข้อมือกลับไปกลับมา ให้ลูกตุ้มที่ปลายเชือกเหวี่ยงตัวไปกระทบที่หนังหน้ากลองทั้งสองด้าน บางครั้งใช้บัณเฑาะว์ลูกเดียว บางครั้งใช้สองลูก ไกวพร้อมกันทั้งสองมือ มือละลูก เป็นจังหวะในการบรรเลงประกอบขับไม้ในงานพระราชพิธี เช่น ขับกล่อมสมโภช พระมหาเศวตฉัตร สมโภชพระยาช้างเผือก และช้างสำคัญ เป็นต้น 


-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


๑๖เปิงมาง


เปิงมาง เป็นกลองใช้ตีขัดจังหวะหยอกล้อกับตะโพน หรือกลองทัด เปิงมางเป็นภาษามอญ เดิมคงเป็นเครื่องดนตรีของมอญ มีรูปร่างยาวเหมือนกระบอก ตรงกลางป่องเล็กน้อย หุ่นกลองทำด้วยไม้ ขึ้นหนังสองหน้า สายโยงเร่งเสียงทำด้วยหนังเรียด ร้อยจากหนังไส้ละมานเรียงถี่จนคลุมหุ่นไว้หมด มีห่วงหนังผูกโยงสายสำหรับคล้องคอ ใช้เดินตีได้ เช่น ใช้ตีนำกลองชนะในกระบวนพยุหยาตรา หรือตีประโคม ประจำพระบรมศพ พระศพ และศพ คนตีเปิงมางนำกลองชนะเรียกว่า "จ่ากลอง" คู่กับคนเป่าปี่ เรียกว่า "จ่าปี่"


-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


๑๗เปิงมางคอก


เปิงมางคอก ใช้ในวงปีพาทย์มอญ โดยใช้เปิงมางจำนวน ๗ ลูก มีขนาดลดหลั่นกันลงไป เทียบเสียงสูงต่ำ แขวนเรียงลำดับไว้เป็นราวรอบตัวคนตี คอกที่ใช้แขวนเปิงมางจะมีรูปโค้งเป็นวง การบรรเลง ใช้ตีขัดสอดประสานกันตะโพนมอญ


-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


ฆ้อง ตัวฆ้องทำด้วยโลหะแผ่นรูปวงกลมตรงกลางทำเป็นปุ่มนูน เพื่อใช้รองรับการตีให้เกิดเสียงเรียกว่า ปุ่มฆ้อง ต่อจากปุ่มเป็นฐานแผ่ออกไป แล้วงองุ้มลงมาโดยรอบเรียกว่า "ฉัตร" ส่วนที่เป็นพื้นราบรอบปุ่มเรียกว่า "หลังฉัตร" หรือ " ชานฉัตร" ส่วนที่งอเป็นขอบเรียกว่า "ใบฉัตร" ที่ใบฉัตรนี้จะมีรูเจาะสำหรับร้อยเชือกหรือหนังเพื่อแขวนฆ้อง ถ้าแขวนตีทางตั้งจะเจาะสองรู ถ้าแขวนตีทางนอนจะเจาะสี่รู 
ฆ้องใช้ในการบรรเลงได้สองลักษณะคือ ใช้ตีกำกับจังหวะ และใช้ตีดำเนินทำนอง 

ฆ้องที่ใช้ตีกำกับจังหวะได้แก่ ฆ้องหุ่ย หรือฆ้องชัย ฆ้องโหม่ง ฆ้องเหม่ง ฆ้องระเบ็ง และฆ้องคู่ 
ฆ้องที่ใช้ตีดำเนินทำนอง ได้แก่ ฆ้องราง ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ฆ้องมโหรี ฆ้องมอญ ฆ้องกะแตและฆ้องหุ่ย หรือฆ้องชัย 
ฆ้องกะแต ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ ลูกฆ้องมีขนาดเล็ก จำนวน ๑๑ ลูก 


-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


ฆ้องคู่ ใช้ตีกำกับจังหวะ ชุดหนึ่งมีสองสูก ลูกใหญ่ให้เสียงต่ำ ลูกเล็กให้เสียงสูง ไม้ตีทำด้วย แผ่นหนังวัว หรือหนังควายตัดเป็นวงกลม เจาะรูตรงกลางใส่ก้านไม้ 

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


ฆ้องมโหรี เป็นฆ้องวงที่ใช้บรรเลงในวงมโหรีโดยเฉพาะ มีอยู่สองขนาด คือฆ้องวงใหญ่มโหรีและฆ้องวงเล็กมโหรี ฆ้องวงใหญ่มโหรีเดิมมีลูกฆ้อง ๑๗ ลูก ต่อมานิยมใช้ ๑๘ ลูก 

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


ฆ้องมอญ เป็นฆ้องวงที่ตั้งโค้งขึ้นไปทั้งสองข้าง ไม่วางราบเหมือนฆ้องไทย มีลูกฆ้อง ๑๕ ลูก ใช้บรรเลงใน วงปีพาทย์มอญ ตัวรางประดิษฐ์ตกแต่งงดงาม 

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------



ฆ้องระเบ็ง ใช้ตีประกอบการและแสดงระเบ็ง ชุดหนึ่งมีสามลูก มีขนาดและให้เสียงสูง-ต่ำ ต่างกัน มีชื่ออีกอย่างหนึ่งตามลักษณะว่า "ฆ้องราว" 

ฆ้องราง ใช้ตีดำเนินทำนอง ชุดหนึ่งมี ๗-๘ ลูก เสียงลูกที่ ๑ กับลูกที่ ๘ เป็นเสียงเดียวกัน แต่ต่างระดับเสียง ปัจจุบันไม่มีการใช้ในวงดนตรีไทย 

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ฆ้องวง ใช้ตีดำเนินทำนอง เสียงต่ำอยู่ทางซ้าย เสียงสูงอยู่ทางขวาของผู้ตี 

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


ฆ้องวงใหญ่ มีลูกฆ้อง ๑๖ ลูก ลูกเสียงต่ำสุดเรียกว่า ลูกทวน ลูกเสียงสูงสุดเรียกว่า ลูกยอด ไม้ที่ใช้ตีมีสองอัน ผู้ตีถือไม้ตีมือละอัน 

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------



ฆ้องวงเล็ก มีลูกฆ้อง ๑๘ ลูก สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ใช้บรรเลงร่วมในวงปี่พาทย์ มีหน้าที่เก็บ สอด แทรก ฯลฯ 

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


ฆ้องหุ่ย ใช้ตีกำกับจังหวะ เป็นฆ้องที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ในวงดนตรีไทย มีอีกชื่อว่า ฆ้องชัย อาจเป็นเพราะสมัยโบราณ ใช้ฆ้องชนิดนี้ตีเป็นสัญญาณในกองทัพ ปัจจุบันใช้ตีใน งานพิธี งานมงคลต่าง ๆ

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


ฆ้องเหม่ง ใช้ตีกำกับจังหวะ ขนาดเล็กกว่า ฆ้องโหม่ง ได้ชื่อนี้ตามเสียงที่เกิดจากการตี

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


ฆ้องโหม่ง ใช้ตีกำกับจังหวะ มีขนาดใหญ่ รองลงมาจากฆ้องหุ่ย ได้ชื่อนี้ตามเสียงที่เกิดจากการตี

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


ฉาบ เป็นเครื่องตีกำกับจังหวะ ทำด้วยโลหะ รูปร่างคล้ายฉิ่ง แต่มีขนาดใหญ่กว่าและหล่อบางกว่า มีสองขนาด ขนาดใหญ่กว่าเรียกว่า ฉาบใหญ่ ขนาดเล็กกว่า เรียกว่า ฉาบเล็ก การตีจะตีแบบประกบ และตีแบบเปิดให้เสียงต่างกัน 

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


ฉิ่ง เป็นเครื่องตีกำกับจังหวะ ทำด้วยโลหะ หล่อหนา รูปร่างกลม เว้ากลาง ปากผาย คล้ายฝาขนมครกไม่มีจุก สำรับหนึ่งมีสองฝาเจาะรูตรงกลางที่เว้า สำหรับร้อยเชือกโยงฝาทั้งสอง เพื่อสะดวกในการถือตี ฉิ่งมีสองขนาด ขนาดใหญ่ใช้ประกอบวงปีพาทย์ ขนาดเล็กใช้กับวงเครื่องสายและมโหรี

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


กังสดาล เป็นระฆังวงเดือน หล่อจากสัมฤทธิ์ หรือทองเหลือง ด้านบนเจาะรูไว้แขวน ใช้เป็นเครื่องตีบอกสัญญาณ ของพระสงฆ์ในสมัยโบราณ และใช้ประกอบ การบรรเลงดนตรีในบางโอกาส

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


มโหระทึก เป็นกลองหน้าเดียว หล่อด้วยโลหะทั้งลูก มโหระทึกมีมาตั้งแต่ยุคโลหะตอนปลาย ซึ่งตกประมาณ ๒๐๐๐ปีมาแล้ว มีพบในหลายประเทศในสุวรรณภูมิ ตัวกลองมีหน้ากลองแบนกว้าง บริเวณตรงกลางหน้ากลองนิยมทำเป็นรูปดาวและมีลวดลายอื่น ๆ ประกอบ ด้านข้างตัวกลางมักจะหลักลวดลายต่าง ๆ ฐานกลองเป็นทรงกระบอกกลวง 
ในการตีจะวางมโหระทึก ตั้งเอาหน้ากลองขึ้น ใช้ไม้ตีสองอัน ทำด้วยไม้รวกหรือไม้เนื้อแข็งเหลากลม ปลายที่ใช้ตี พันด้วยผ้าให้แน่นแล้วผูกเคี่ยนหรือถักด้วยเส้นด้าย 

ชาวไทยใช้มโหระทึกมาแต่โบราณ มีกล่าวถึงในสมัยสุโขทัย ใช้ตีในเทศกาล งานรื่นเริง สมัยอยุธยามีกำหนดให้ตีมโหระทึก ในงานพระราชพิธี สมัยรัตนโกสินทร์ ใช้ประโคมร่วมกับแตร สำหรับพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ ในการเสด็จออก ขุนนางในงานพระราชพิธีและรัฐพิธี ใช้บรรเลงร่วมกับกลองชนะใน งานเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวน พยุหยาตราทางชลมารค และในกระบวนอื่น ๆ นอกจากนั้นยังโปรดเกล้าฯ เป็นการพิเศษแก่วัดสามวัด ให้มีการประโคมมโหระทึกของ พระภิกษุสงฆ์ทำวัตรสวดมนต์ คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ8 สิงหาคม 2555 เวลา 20:27

    เรื่องนี้สนุกมากเลยนะตัวเอง55555555555555555555555555555555555555555555

    ตอบลบ
  2. เป้นประโยชเเก่เด็กๆ

    ตอบลบ